‘ยาง’ เป็นหนึ่งในวัสดุสำคัญที่สามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของยางให้มากขึ้น บทความนี้จะมาบอกถึงข้อมูลควรรู้ว่ายางมีกี่ประเภท อะไรบ้าง และหากต้องการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมควรเลือกใช้งานอย่างไรถึงจะเหมาะสม
ยางคืออะไร มีกี่ประเภท มีคุณสมบัติอย่างไร ?
ยางเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น เมื่อออกแรงดึงหรือกด และสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้เมื่อปล่อยยางเป็นอิสระ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ยางธรรมชาติ (Natural Rubber)
ยางธรรมชาติ เป็นยางที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนต่อแรงดึง การฉีกขาด และการสึกหรอ แต่ไม่ทนต่อตัวทำละลายพวกน้ำมันปิโตรเลียม และมักเสื่อมสภาพเร็วภายใต้แสงแดด ความร้อน ออกซิเจน และโอโซน โดยสามารถสกัดน้ำยางได้จากพืชหลายชนิด แต่ส่วนมากที่คุ้นเคยกันคือ ต้นยางพารา
ยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber)
ยางสังเคราะห์ เป็นยางที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี เพื่อเลียนแบบยางธรรมชาติ มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท โดยความหนาแน่น ยืดหยุ่น หรือความแข็งของยางแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน และมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน ดังต่อไปนี้
- ยางพอลิไอโซพรีน (Cis -1,4-polyisoprene, IR) เป็นยางสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเหมือนยางธรรมชาติ มีคุณภาพสม่ำเสมอ สิ่งเจือปนน้อย และเป็นสีขาว จึงทำให้ผสมสีได้ง่ายและสวยงามกว่า
- ยางบิวตาไดอีน (Butadiene Rubber, BR) เป็นยางที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก จึงทำให้มีคุณสมบัติในการกระเด้งกระดอนสูง มีความต้านทานต่อแรงขัดถูได้สูง แต่มีความต้านทานต่อแรงดึงได้ต่ำ
- ยางคลอโรพรีน (Chloroprene Rubber, CR) เป็นยางที่ทนทานต่อเปลวไฟได้ดี และทนต่อการกัดกร่อนของน้ำมันและสารเคมี
- ยางสไตรีนบิวตาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber, SBR) เป็นยางที่ทนต่อการเสียดสีได้ดี ทั้งยังทนต่อกรด ด่างเจือจาง แอลกอฮอล์ น้ำ ไกลคอล เกลือ และน้ำมันซิลิโคน แต่ไม่ทนต่อน้ำมันปิโตรเลียมและไฮโดรคาร์บอน
- ยางไนไตรล์ (Nitrile or Acrylonitrile-Butadiene Rubber, NBR) เป็นยางที่มีความทนต่อแรงดึงต่ำ จำเป็นต้องเติมสารตัวเติมเสริมแรง ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำมัน ความร้อน และต้านทานต่อการขัดถู
- ยางบิวไทล์ (Butyl Rubber, IIR) เป็นยางที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศ ความร้อน ไอน้ำ โอโซน และออกซิเจนได้ดี
- ยางเอทิลีนพรอพิลีนไดอีน (Ethylene-Propylene Diene Monomer, EPDM) เป็นยางที่ทนต่อความร้อน สภาพอากาศ ไอน้ำ โอโซน และออกซิเจน รวมถึงต้านทานต่อการขัดถูได้ดี
- ยางซิลิโคน (Silicone Rubber, Q) เป็นยางที่ทนความหนาแน่นสูง รวมถึงยังทนต่อการซึมผ่านของก๊าซได้ดีกว่ายางชนิดอื่น ๆ แต่ทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างต่ำ ทั้งยังไม่ทนต่อกรดและด่าง หรือสารเคมีจำพวกคีโตน และอีเทอร์
ยางแต่ละประเภทและการนำไปใช้งาน
เนื่องจากยางแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน การนำยางไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จึงควรเลือกให้เหมาะสม โดยตัวอย่างของการนำยางไปใช้งานมีดังนี้
ยางธรรมชาติ
ยางธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบที่สามารถทำไปผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เช่น ถุงมือยาง ยางรัดของ ลูกโป่ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางการแพทย์ ยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางแท่ง ยางรถจักรยาน และยางรถยนต์
ยาสังเคราะห์
ยาสังเคราะห์ สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยสามารถแยกตามประเภทของยางได้ ดังนี้
- ยางพอลิไอโซพรีน สามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนที่มีอาการภูมิแพ้ต่อยางธรรมชาติ
- ยางบิวตาไดอีน เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ที่ต้องการความทนทานต่อการขัดถู และลูกกอล์ฟ ลูกฟุตบอล ที่ต้องการความกระเด้งกระดอนสูง
- ยางคลอโรพรีน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่ต้องทนเปลวไฟ สารเคมี และน้ำมัน เช่น ยางซีล ยางสายพานลำเลียงในเหมืองแร่
- ยางสไตรีนบิวตาไดอีน เหมาะสำหรับการใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ทนทานต่อการเสียดสี เช่น พื้นรองเท้า สายพาน และยางรถยนต์
- ยางไนไตรล์ เหมาะสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์ยางที่ต้องสัมผัสกับน้ำมัน เช่น ประเก็นน้ำมัน ยางโอริง ยางซีล
- ยางบิวไทล์ เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการการซึมผ่านของก๊าซต่ำ และทนต่อสภาพอากาศได้ดี เช่น ยางในรถยนต์ ถุงยางลมสำหรับอบล้อให้คงรูป จุดปิดภาชนะ ปลอกหุ้มสายไฟหรือสายเคเบิล
- ยางเอทิลีนพรอพิลีนไดอีน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสน้ำมัน ความร้อน และการขัดถู เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ท่อยางเครื่องซักผ้า สายพานลำเลียง และแผ่นยางกันน้ำ
- ยางซิลิโคน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้ยางประเภทอื่นมาทดแทนได้ เช่น ชิ้นส่วนของเครื่องบินและรถยนต์ ฉนวนเคเบิล และเครื่องมือทางการแพทย์
ทั้งหมดนี้ คงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกประเภทของยางไปใช้งานได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแม่พิมพ์สำหรับฉีดขึ้นรูปพลาสติกและผลิตภัณฑ์ยาง เลือกใช้บริการ Molder Enterprise ผู้ให้บริการรับทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดขึ้นรูปพลาสติกและยางคุณภาพดี ด้วยเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน และช่างผู้มีประสบการณ์ยาวนาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ โทร. 034-476-173
ข้อมูลอ้างอิง
- สมบัติทั่วไปของยางสังเคราะห์. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 จาก https://rubber.oie.go.th/box/Article/21039/1.สมบัติทั่วไปของยางสังเคราะห์.pdf
- ยาง (rubber). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 จาก https://designtechnology.ipst.ac.th/wp-content/uploads/sites/83/2018/12/ยาง.pdf